Boarding Pass คือ กระดาษใบยาวๆ ที่เราได้รับหลังทำการเช็กอิน (check-in) เมื่อไปถึงสนามบิน มีใครเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าคืออะไรกันแน่ ทำไมเวลาเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ต้องใช้ Boarding Pass อยู่เสมอ และที่สำคัญ คือ ทุกคนจะทำ Boarding Pass หาย ไม่ได้นะ ไม่งั้นไม่ได้ขึ้นเครื่องแน่ๆ
Boarding Pass คือ เอกสารสำคัญที่ควรถือไว้คู่กับหนังสือเดินทาง (Passport) เพราะเป็นเอกสารที่มีข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการบิน จึงมีไว้สำหรับยืนยันตัวตนของเราหลายระหว่างบิน โดยตัว Boarding Pass จะประกอบด้วยข้อมูลสำคัญของเรา ไม่ว่าจะเป็นชื่อ-นามสกุล หมายเลขเที่ยวบิน เวลาขึ้นเครื่อง เวลาถึงปลายทาง ประตูทางออกขึ้นเครื่อง ชั้นที่นั่งโดยสาร และเลขที่นั่งโดยสาร
จริงๆ แล้วถ้าเราทำ Boarding Pass หาย ไม่ใช่แค่เราจะไม่ได้ขึ้นเครื่อง แต่ยังเกิดความเสี่ยงต่างๆ ตามมาจากข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล เพราะ Boarding Pass นั้นมีบาร์โค้ดที่สามารถสแกนเข้าไปดูข้อมูลอื่นๆ ของเราได้เทียบเท่ากับตัวเล่ม Passport เลยนะ ดังนั้น เมื่อได้ Boarding Pass มาแล้ว ต้องรักษาไว้ให้ดี อย่าทำหาย หรือ ถ่ายรูปโพสต์ลงบนโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นอันขาด
Boarding Pass คืออะไร
เมื่อเราไปถึงสนามบินแล้ว เราไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ในทันที สิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำเหมือนกันเลย คือ การเช็กอิน (check-in) หรือ การลงทะเบียนยืนยันการเดินทาง ซึ่งปกติแล้วทางสายการบินจะมีเคาน์เตอร์เตรียมไว้รอรับเราอยู่ใกล้ๆ กับประตูทางเข้าอยู่แล้ว พอทำการเช็กอิน (check-in) เสร็จ ทุกคนจะได้รับกระดาษสีขาวใบยาวๆ ที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในเที่ยวบินนี้ของเรามา เจ้ากระดาษใบนี้แหละ คือ “Boarding Pass”
- การเช็กอิน (check-in) แบบอัตโนมัติด้วยตัวเอง ผ่านเครื่อง kiosk ตามจุดที่สนามบินเตรียมเอาไว้ให้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยลักษณะของตู้ประเภทนี้จะคล้ายๆ กับตู้ ATM เราสามารถตอบคำถามต่างๆ ที่ตู้นี้ถามให้ครบ เช่น ชื่อ-สกุลอะไร นั่งตรงไหน สายการบินอะไร ถ้าตอบถูกหมด ก็จะได้รับ “Boarding Pass” เช่นเดียวกัน
- บางสายการบินก็มีบริการเช็กอินออนไลน์ (online-check-in) ผ่านเว็บไซต์ โดยเราสามารถทำการเช็กอินได้ภายระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนเครื่องออก ซึ่งการเช็กอินประเภทนี้ เราจะได้ “Boarding Pass” ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถกดบันทึกไว้เป็นไฟล์รูปภาพภายในโทรศัพท์มือถือได้ วิธีนี้จะเป็นวิธีที่สะดวกสบายมากที่สุด แถมยังช่วยรักษ์โลกผ่านการลดปริมาณการใช้กระดาษได้อีกด้วย
ข้อมูลใน Boarding Pass
ไม่ว่าเราจะทำการเช็กอินแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการเช็กอินหน้าเคาเตอร์ เช็กอินผ่านตู้ kiosk หรือเช็กอินผ่านช่องทางออนไลน์ Boarding Pass ที่ได้รับมา คือ Boarding Pass เดียวกัน สามารถใช้เป็นเอกสารในการขอขึ้นเครื่องบินได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระดาษสีขาวทรงแนวนอนแบบยาว หรือเป็นภาพไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะ Boarding Pass ที่เราได้รับมาจะมีข้อมูลสำคัญของตัวเรา ดังนี้
1.ชื่อ-นามสกุล ผู้โดยสาร
สำหรับชื่อ-นามสกุลของผู้โดยสารที่ปรากฎอยู่บน Boarding Pass นั้น อาจจะดูแปลกตาสำหรับคนไทย เพราะอย่างแรกเลย
คือ ชื่อ-นามสกุลผู้โดยสารที่ปรากฎอยู่บน Boarding Pass จะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และอย่างที่สอง คือ ชื่อ-นามสกุลบน Boarding Pass จะมีการสลับตำแหน่งกัน คือ นามสกุลจะปรากฎอยู่ข้างหน้า ส่วนชื่อจะอยู่ด้านหลังนามสกุลอีกที เช่น ถ้าคุณชื่อ Michel Jackson ชื่อ-นามสกุลที่ปรากฎอยู่บน Boarding Pass ของคุณ คือ Jackson Michel
โดยเราต้องตรวจทานให้ดีว่าชื่อ-นามสกุลของเรา มีการสะกดที่เหมือนกับชื่อ-นามสกุลที่ปรากฎอยู่บนหนังสือเดินทาง (Passport) หรือไม่ เพราะถ้าหากมีตัวอักษรสะกดแตกต่างกันแม้แต่ตัวเดียว เราก็อาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบินได้ และสำหรับใครที่ขึ้นเที่ยวบินภายในประเทศ อาจใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารยืนยันตัวตนแทนหนังสือเดินทาง (Passport) ได้เช่นกัน
2. หมายเลขเที่ยวบิน
ในส่วนของหมายเลขเที่ยวบินนั้น จะเป็นโค้ดตัวอักษรภาษาอังกฤษจำนวน 2 ตัว ตามด้วยตัวเลขอีก 3-4 หลักต่อท้าย ทุกคนจึงควรจำตัวอักษร 2 หลักแรกบน Boarding Pass ให้ดี เพราะตัวอักษรนั้น คือ รหัสที่จะบอกสายการบินที่ต้องขึ้น เช่น AK1234 ตัวอักษร AK ที่ปรากฎอยู่ด้านหน้า จะบอกให้รู้ว่าเที่ยวบินที่ต้องขึ้นเป็นเที่ยวบินของสายการบินใด ซึ่งแต่ละสายการบินจะมีรหัสตัวอักษรนำคู่ที่แตกต่างออกไป
3. เวลาขึ้นเครื่อง
สำหรับใครที่ได้รับ Boarding Pass มาแล้ว จะเห็นตัวเลข 3-4 หลัก ที่เขียนติดกันเอาไว้ โดยมีตัวอักษร A หรือ P ต่อท้าย มักปรากฎอยู่บริเวณที่ส่วนกลางของขอบกระดาษ เช่น 300A หรือ 1010P โดยเจ้าตัวโค้ด A หรือ P นี้ คือ ตัวเลขบอกเวลาขึ้นเครื่อง โดย 300A หมายถึง เวลา ตี 3 ส่วน 1010P หมายถึง เวลา 4 ทุ่ม 10 นาที
- ตัวอักษร A นั้น ย่อมาจากคำว่า AM (Ante Meridiem) หมายถึง เวลา 12 ชั่วโมงหลังเที่ยงคืน
- ตัว P นั้น ย่อมาจากคำว่า PM (Post Meridiem) หมายถึง เวลา 12 ชั่วโมงหลังเที่ยงวัน
นอกจากนี้ เราควรเผื่อเวลาก่อนขึ้นเครื่องสักเล็กน้อย หากเวลาขึ้นเครื่องบน Boarding Pass คือ 1130A หรือ 11 โมงครึ่ง เราก็ควรจะไปรอที่เกต (Gate) ตั้งแต่ 10 โมงครึ่ง หรือหากมาสาย ถ่ายรูป กินข้าว ช็อปปิงเพลินไปหน่อย ก็ควรมาถึงเกตอย่างช้าสุดตอน 11 โมงเช้า ไม่งั้นอาจตกเครื่องได้ เพราะไม่ใช่ว่ามาถึงเกตแล้วจะได้ขึ้นเครื่องทันที พี่ๆ แอร์โฮสเตสและสจ๊วต เขาจะเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่องตามโซนและคลาสของที่นั่ง หากเราไปผิดเวลา อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าได้
- โดยผู้โดยสารชั้น First Class และ Business Class จะได้ขึ้นเครื่องก่อน
- ผู้โดยสารขึ้น Economy Class โดยจะเรียกขึ้นเครื่องตามโซนที่นั่ง ซึ่งใครได้ที่นั่งเข้าออกยากๆ บริเวณตรงกลางด้านหลัง ก็มักจะถูกเรียกให้ขึ้นเครื่องก่อน
พูดง่ายๆ คือ หากเราไม่อยากมีปัญหาในการเดินทาง จนต้องมาลุ้นว่าจะขึ้นเครื่องทันก่อนเครื่องออกหรือไม่ ให้ดูเวลาขึ้นเครื่องใน Boarding Pass ให้ดี คือ เวลาเครื่องออกเท่าไหร่ ควรไปรอที่เกตก่อนหน้าเวลาที่ปรากฎสัก 30-60 นาที ซึ่งเวลาที่เขียนอยู่บน Boarding Pass คือ เวลาท้องถิ่นที่สนามบินนั้นๆ ตั้งอยู่
4. เวลาถึงปลายทาง
ในส่วนของเวลาถึงปลายทาง คือ เวลาคาดการณ์โดยประมาณที่ครื่องบินจะลงจอดยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งมีหลักการในการเขียนตัวเลขลงใน Boarding Pass เหมือนกันกับการเขียนบอกเวลาขึ้นเครื่อง คือ ตัวเลข 3-4 หลัก แล้วตามด้วยตัวอักษร A หรือ P เช่น 1010A คือ 10 โมงเช้ากับอีก 10 นาที นั่นเอง
นอกจากนี้ เราควรปรับนาฬิกาให้เวลาตรงตามเวลาท้องถิ่นของปลายทางนั้นๆ โดยสามารถดูเวลาจาก Time Zone สากลได้ เช่น เมืองไทยมีรหัสโซนเวลาเป็น GMT+7:00 BKK นั่นหมายความว่า โซนเวลาของประเทศไทย ที่มีเมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานครนั้น จะมีเวลาเร็วกว่าโซนเวลามาตรฐาน คือ เมืองกรีนิชประเทศอังกฤษ (Greenwich Mean Time) อยู่ 7 ชั่วโมง หากเราเดินทางไปจากเมืองไทยไปถึงประเทศอังกฤษ ก็ต้องปรับเวลาให้เร็วขึ้น 7 ชั่วโมง เช่น เวลาเครื่องลงจอดที่อังกฤษ นาฬิกาเราบอกเวลา 10 โมงเช้า เราก็ต้องปรับลดเวลาลง 7 ชั่วโมง ให้เป็นเวลา ตี 3 แทน
5. ประตูทางออกขึ้นเครื่อง
อีกสิ่งสำคัญที่ Boarding Pass สามารถบอกเราได้ คือ ประตูทางออกขึ้นเครื่อง หรือ Gate นั่นเอง เพราะเครื่องบินโดยสารนั้นมีขนาดที่ใหญ่ ทำให้มีประตูทางออกขึ้นเครื่อง หรือ Gate หลายประตู แยกตามโซนและคลาสที่นั่ง เมื่อเราได้ Boarding Pass มาแล้ว ก็ต้องตรวจดูว่า เราได้ขึ้นเครื่องบินที่ประตูทางออกขึ้นเครื่อง หรือ Gate ไหน และจำหมายเลข Gate เอาไว้ให้ดี แต่บางครั้งอาจมีตัวอักษรภาษาอังกฤษอยู่ด้านบน คล้ายกับโซนของที่จอดรถ เช่น Gate B12 เป็นต้น
6. เลขที่นั่งโดยสาร
Boarding Pass คือ สิ่งที่สามารถบอกเลขที่นั่งโดยสารของเราได้ โดยมีเลขบอกแถวและที่นั่ง จะมีลักษณะคล้ายเลขที่นั่งเวลาไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเราต้องดูที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษในหลักแรกก่อน ว่าเราได้นั่งแถวไหน และตามปกติแล้ว แถวหน้าสุดจะเป็นรหัส A แถวที่ 2 เป็น B แถวที่ 3 เป็น C เรียงตามลำดับ A-Z แล้วหลังจากนั้น ค่อยดูเลขที่นั่งต่อท้าย ว่าเราได้เลขที่นั่งอะไร โดยจะนับ 1 ที่ตำแหน่งซ้ายสุด เช่น A1 คือ ที่นั่งแถวหน้าสุด ติดริมหน้าต่างฝั่งซ้ายของตัวเครื่องบิน
7. ชั้นที่นั่งโดยสาร
สำหรับชั้นที่นั่งโดยสาร จะมีโค้ดเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษต่อท้ายเลขที่นั่ง ซึ่งเป็นตัวอักษรแบ่งเอาไว้ตามหลักสากลให้ดูบน Boarding Pass เหมือนกันทุกสายการบิน คือ รหัส P J และ Yโดยรหัสทั้ง 3 มีความหมายดังต่อไปนี้
- P หมายถึง First Class
- J หมายถึง Business Class
- Y หมายถึง Economy Class
ยกตัวอย่างเช่น Boarding Pass ระบุว่าคุณได้ที่นั่ง A1Y คือ คุณได้นั่งที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) แถวแรก ติดหน้าต่างด้านซ้ายสุดนั่นเอง
Boarding Pass ทำอะไรได้บ้าง
อย่างที่กล่าวไป Boarding Pass คือ เอกสารที่สำคัญที่สุดแล้วในการเดินทางโดยเครื่องบิน ดังนั้น คุณต้องระวังไม่ให้ Boarding Pass หาย เพราะคุณต้องใช้ Boarding Pass เป็นเอกสารประกอบการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอนระหว่างที่อยู่ในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการตรวจสอบ และโหลดกระเป๋า การโชว์ให้เจ้าหน้าที่ตรงประตูทางออกขึ้นเครื่องดู และโชว์ให้พนักงานต้อนรับดูตอนหาที่นั่ง
ตรวจสอบและโหลดกระเป๋า
สำหรับใครที่ถึงสนามบินเร็ว และอยากเดินช็อปปิงสินค้าปลอดภาษีในสนามบินระหว่างรอขึ้นเครื่อง แต่ไม่อยากลากกระเป๋าไปมาให้พะรุงพะรัง สามารถนำกระเป๋าฝากกับ AIRPORTELs ก่อนได้ พอถึงเวลาค่อยกลับมานำกระเป๋าไปโหลดทีหลัง โดยใช้ Boarding Pass เป็นเอกสารในการยืนยันตัวตนว่าเราคือผู้โดยสารคนเดียวกับคนที่ได้เช็กอินไปก่อนหน้านี้ ของที่โหลดเพิ่มจะได้เอาไปรวมกับของเก่าที่โหลดเอาไว้ก่อนหน้าได้ถูกคน
โดยหลายคนเลือกที่จะมาช็อปปิงสินค้าในสนามบินกันค่อนข้างมาก เพราะนอกจากราคาจะถูกกว่าตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปแล้ว ยังสามารถโหลดขึ้นเครื่องได้ฟรี เพิ่มเติมจากน้ำหนักมาตรฐานที่สายการบินแจ้ง หรือผู้โดยสารได้ซื้อน้ำหนักเอาไว้
โชว์ให้เจ้าหน้าที่ตรงประตูทางออกขึ้นเครื่องดู
เราจำเป็นต้องแสดง Boarding Pass โชว์ให้เจ้าหน้าที่ตรงประตูทางออกขึ้นเครื่องดู เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนว่าเราคือผู้โดยสารของสายการบินนั้นๆ และเราขึ้นเครื่องบินถูก Gate เพราะอย่างที่บอกไว้ข้างต้น ว่าเครื่องบินโดยสารนั้นมีขนาดใหญ๋ และมีหลาย Gate หากขึ้นผิด Gate จะสร้างความลำบากให้กับเรา รวมถึงแอร์โฮสเตส และสจ๊วตบนเครื่องบินเวลาต้องหาที่นั่ง อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าเราเป็นผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเครื่องบินมาอย่างถูกต้อง
โชว์ให้พนักงานต้อนรับดู
สาเหตุสำคัญที่ต้องโชว์ Boarding Pass ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องดูอีกรอบ คือ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ให้จัดหาที่นั่งให้เราได้อย่างสะดวก และจะได้มีหลักฐานยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของที่นั่งนั้นๆ หากมีคนอื่นมานั่งที่นั่งของเราบนเครื่องบิน
Boarding Pass คือ เอกสารที่สำคัญที่สุดในการเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะมีข้อมูลสำคัญต่างๆ มากมาย ทั้งชื่อ-นามสกุล หมายเลขเที่ยวบิน เวลาขึ้นเครื่อง เวลาถึงปลายทาง ประตูทางออกขึ้นเครื่อง เลขที่นั่ง และชั้นโดยสาร แถมยังมีบาร์โค้ดที่สามารถเข้าไปแก้ไขชื่อ-นามสกุล และเที่ยวบินต่างๆ แบบออนไลน์ได้ด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่ทางเรานำมาฝาก ว่า Boarding Pass มีความสำคัญมากแค่ไหน ก่อนออกจากบ้านไปสนามบิน อย่าลืมเช็คกันน้า และทุกคนต้องเก็บรักษา และห้ามทำ Boarding Pass หาย ตลอดจนห้ามโพสต์ข้อมูลบน Boarding Pass ลงบนโซเชียลเป็นอันขาด
อ่านเพิ่มเติม