เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการส่งพัสดุหรือรับพัสดุจากต่างประเทศนั้น หากมิได้เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายใด ๆ แล้ว ผู้ส่งหรือผู้รับนั้นจะต้องเป็นผู้เสียภาษีอากรเพื่อการส่งออกหรือเพื่อการนำเข้าแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่ามีการจงใจส่งของหรือ พัสดุที่เลี่ยงภาษี หรือหนีภาษีนั้น ย่อมถือเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากร โดยเบื้องต้นหากเป็นการตรวจพบก่อนส่งพัสดุกล่าวคือ กรอกใบ CN22 ผิดจากความเป็นจริง หากยังอยู่ในอำนาจแก้ไขได้ เช่น ยังอยู่ที่ทำการไปรษณีย์หรือผู้รับขนส่งอื่น ก็คงไม่เป็นอะไร แต่หากของหรือพัสดุนั้นส่งออกไปแล้วถูกตรวจพบโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งปกติมักทำการตรวจโดยการสุ่ม หรือตรวจเฉพาะของหรือพัสดุที่ต้องสงสัยจริง ๆ หากพบว่ามีลักษณะจงใจหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรย่อมอาจต้องถูกดำเนินคดีได้ โดยความผิดตามกฎหมายศุลกากรนี้ สามารถแยกออกได้เป็น 5 ฐานความผิดสำคัญดังนี้
1. ความผิดฐานลักลอบหนีภาษี
ลักษณะความผิดคือ การนำของซึ่งยังมิได้เสียภาษีอากรโดยถูกต้องหรือมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง นำเข้าหรือส่งออกไปราชอาณาจักร กล่าวคือ หากของนั้นต้องเสียภาษีแต่มิได้เสียภาษี หรือของนั้นไม่จำต้องเสียภาษี แต่ก็มิได้กระทำให้ถูกกระบวนการพิธีการศุลกากรตามกฎหมาย เหล่านี้ถือเป็นความผิดฐานลักลอบหนีภาษีทั้งสิ้น ระวางโทษคือ ปรับ 4 เท่าของราคาภาษีนั้น หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมริบของนั้น
2. ความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษี
ลักษณะความผิดคือ การส่งของหรือพัสดุโดยผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง แต่กระทำการใด ๆ เพื่อให้ชำระค่าภาษีน้อยลง เช่น สำแดงปริมาณน้ำหนักน้อยกว่าความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า การสำแดงเท็จ ทั้งนี้การส่งของหรือ พัสดุที่เลี่ยงภาษี นี้ กำหนดความผิดไว้ทำนองเดียวกับการหนีภาษีคือ ระวางโทษ ปรับ 4 เท่าของราคาภาษีนั้น หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมริบของนั้น แต่ในกรณีเป็นการหลีกเลี่ยงโดยการซุกซ่อนกับสิ่งอื่นที่ต้องเสียภาษี นอกจากปรับ 4 เท่าตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เท่าด้วย หรือประมาณอีก 10 %
3. ความผิดฐานสำแดงเท็จ
ลักษณะความผิดคือ การนำเข้าหรือส่งออกไม่ตรงกับเอกสารหลักฐานที่แสดง ซึ่งมีหลายกรณี เช่น ปลอมหรือใช้เอกสารปลอม หรือแจ้งเท็จแก่เจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
4. ความผิดฐานนำของต้องกำกัดหรือของต้องห้ามเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ของต้องกำกัด คือ ของต้องจำกัดการนำเข้าหรือส่งออกนั่นเอง กล่าวคือ เป็นของที่สามารถนำเข้าหรือส่งออกได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตก่อน เช่น การนำเข้าสารเคมีอันตรายเข้ามาภายในประเทศ ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมก่อนเสมอ ส่วนของต้องห้ามคือ สิ่งผิดกฎหมายที่ไม่อาจนำเข้าหรือส่งออกราชอาณาจักรเพื่อการค้าได้เด็ดขาด เช่น ยาเสพติด
5. ความผิดฐานฝ่าฝืนพิธีศุลกากร
ลักษณะความผิดคือ การมิได้ปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่น เช่น มิได้ยื่นคำขอตามแบบพิธีในการขนสินค้าขาเข้า ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท เป็นต้น
จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากเราส่งของหรือ พัสดุที่เลี่ยงภาษี หรือหนีภาษี โทษทางกฎหมายศุลกากรนั้นค่อนข้างมีบทลงโทษรุนแรง โดยมีทั้งโทษปรับ และโทษจำคุก โดยหากถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบเมื่อกระทำผิดแล้ว ก็ยากที่จะแก้ตัวให้พ้นผิด ต้องถูกส่งดำเนินคดี ส่งฟ้องต่อศาลต่อไป โดยแม้หากผู้กระทำผิด ยินดีจ่ายค่าปรับสูงสุด อธิบดีศุลกากรอาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องก็ได้ แต่กระนั้นก็มิได้ลบล้างความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น ก่อนที่จะส่งหรือนำเข้าของ หรือพัสดุต่าง ๆ ควรตรวจสอบราคาสิ่งของและเงื่อนไขการส่งให้ชัดเจน