ปัจจุบันการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศเจริญขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการซื้อขายมีลักษณะเป็น E-commerce กล่าวคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย อย่างไรก็ตามด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศนั้น แต่ละประเทศย่อมมีวัฒนธรรมและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิหน้าที่และความรับผิดของผู้ขายสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว หอการค้านานาชาติ (ICC) จึงได้จัดทำ Incoterms ขึ้น ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 11 เทอม ตาม Incoterms 2010 ซึ่งแก้ไขล่าสุด อย่างไรก็ตามในการซื้อขายระหว่างประเทศในความเป็นจริงแล้ว มีเทอมใน Incoterm เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่ควรศึกษาอยู่จริง ๆ เพียง 4 – 5 เทอมเท่านั้น อันเป็นเทอมที่ใช้บ่อย ดังนี้
FOB (Free on Board) คือ การซื้อขายที่กำหนดหน้าที่ผู้ขายสินค้าพ้นความผิดในการที่สินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหาย เมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) ที่ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหา ดังนั้น หากความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าเวลาใด ก่อนมีการบรรทุกสินค้าลงเรือ ไม่ว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ตามกฎหมายประเทศนั้น ๆ ผู้ขายยังคงมีหน้าที่รับผิดเสมอ กลับกันหากสินค้าบรรทุกลงเรือแล้ว เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผู้ซื้อก็ไม่อาจโทษผู้ขายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในเรื่องพิธีการศุลกากร ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะพิธีการศุลกากรเพื่อการส่งออกเท่านั้น ส่วนพิธีการเพื่อการนำเข้าเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ
Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประเภทเทอม FOB เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่สามารถจัดการติดต่อว่าจ้างขนสินค้าได้เอง รวมถึงสามารถทำพิธีการศุลกากรขาเข้าได้
EXW (Ex Work) คือ การซื้อขายที่กำหนดข้อตกลงให้ผู้ขายปฏิบัติการชำระหนี้ ณ สถานที่ของผู้ขาย กล่าวคือ ความเสี่ยงภัยในความรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายมอบของแก่ผู้ซื้อหน้าโรงงานของผู้ขายหรือสถานที่อื่น ๆ ที่ผู้ขายกำหนด อาจกล่าวได้ EXW กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ขายน้อยสุดเมื่อเปรียบเทียบกับ Incoterm ในเทอมอื่น ๆ เพราะผู้ขายแทบไม่ต้องทำหน้าที่อะไร รวมถึงไม่ต้องดำเนินพิธีการทางศุลกากรใด ๆ ทั้งสิ้น
Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศประเภทเทอม EXW เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่มีความสามารถในการจัดหาผู้ขนส่ง และสามารถดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศต้นและศุลกากรขาเข้าประเทศปลายทาง ดังนั้น หากผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถดำเนินการตามได้ข้างต้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะซื้อขายสินค้าในเทอมนี้ เพราะภาระมากสุด
CFR (Cost and Freight) คือ การซื้อขายสินค้าที่กำหนดให้ผู้ขายพ้นความผิดหากสินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหายเมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) อย่างไรก็ตามผู้ขายมีหน้าที่จัดหาขนส่ง แต่ไม่มีหน้าที่ทำประกันภัยในสินค้านั้น หากผู้ขายจะทำต้องดำเนินการเอง อย่างไรก็ตามผู้ขายยังคงมีหน้าที่ดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศผู้ผลิตหรือผู้ขายต้นทางนั้น แต่ไม่รวมถึงพิธีทางศุลกากรขาเข้าประเทศผู้นำเข้าปลายทาง
Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศประเภทเทอม CFR เหมาะสำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อสินค้า โดยผู้ซื้อมีหน้าที่เพียงไปรับสินค้า ณ ท่าเรือที่ปลายทางกำหนด พร้อมดำเนินพิธีทางศุลกากรขาเข้า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขนส่ง การดำเนินการพิธีทางศุลกากรขาออก เป็นหน้าที่ของผู้ขาย
CIF (Cost Insurance and Freight) คือ การซื้อขายสินค้าที่กำหนดให้ ผู้ขายพ้นความผิดหากสินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหายเมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) อย่างไรก็ตามผู้ขายมีหน้าที่เป็นผู้จัดหาขนส่ง รวมถึงมีหน้าที่เอาประกันเกี่ยวกับสินค้านั้น เพื่อคุ้มภัยขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในข้อ C ของหน่วยรับประกันภัยทางทะเล รวมถึงมีหน้าที่ดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศผู้ผลิตหรือผู้ขายต้นทางนั้น แต่ไม่รวมถึงพิธีทางศุลกากรขาเข้าประเทศผู้นำเข้าปลายทาง
Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประเภทเทอม CIF เหมาะสำหรับอำนวยความสะดวกผู้ซื้อมากขึ้น โดยผู้ซื้อเพียงแต่ไปรับสินค้าและดำเนินพิธีทางศุลกากรขาเข้า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขนส่ง และประกันภัย เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้า อย่างไรก็ตามความเสี่ยงภัยในความเสียหายสินค้าของผู้ซื้อเริ่มตั้งแต่ประเทศผู้ส่งของต้นทางแล้ว
จากที่กล่าวมาข้างต้น Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายระหว่างประเทศควรศึกษา เพื่อให้การซื้อขายมีความเป็นสากลเข้าใจตรงกันในเรื่องการโอนความเสี่ยงภัยเมื่อหากเกิดปัญหาขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดหน้าที่อื่น ๆ เช่น พิธีทางศุลกากร หน้าที่การจัดหาผู้ขนส่ง เป็นต้น ซึ่งย่อมช่วยทำให้การซื้อขายสะดวกมากขึ้น ตลอดจนทำให้การระงับข้อพิพาทซึ่งอาจเกิดขึ้น สามารถยุติได้อย่างรวดเร็วเพราะมีหลักเกณฑ์ความเข้าใจตรงกัน