ยุคสมัยที่ผู้คนสามารถจองตั๋วเครื่องบินผ่านแอปพลิเคชันมือถือ อีกทั้งสายการบินยังขยันออกโปรโมชันมายั่วยวนกิเลส จนทำให้บัตรเครดิตในมือหลายๆ คนต้องสั่น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินกลายเป็นหนึ่งในการเดินทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการขึ้นเครื่องบินจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ผู้คนก็มักหลงลืมเกี่ยวกับเรื่องมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน
บ่อยครั้งที่ผู้โดยสารถูกบังคับให้ต้องทิ้งสินค้าที่เพิ่งซื้อหรือครีมแพงๆ ไว้ที่สนามบิน เนื่องจากลืมไปว่าของเหล่านั้นเป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่อง
AIRPORTELs จึงอยากชวนทุกคนมาพูดคุยถึง สิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง 20 อย่าง พร้อมถึงสาเหตุที่พวกมันถูกแบนจากเครื่องบิน รวมไปถึงบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฏของสายการบินอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านต่อกันได้เลย
1. ของเหลว
สาเหตุที่ของเหลวกลายมาเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2006 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษได้ทำการจับกุมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีเป้าหมายในการลักลอบนำสารระเบิดขึ้นไปบนเครื่องบินของสายการบินอังกฤษหลายสายที่มุ่งหน้าไปยังเมืองต่างๆ ทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยลักลอบนำสารระเบิดใส่ในขวดน้ำหวาน เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับ และวางแผนที่จะนำไปใช้ในการจุดชนวนบนเครื่องบิน โชคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขัดขวางแผนการก่อการร้ายได้เสียก่อน หลังจากเหตุการณ์นั้น ทำให้ของเหลวทุกชนิดกลายเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบัน สายการบินอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำของเหลวใส่กระเป๋า Carry-on ได้ โดยแต่ละชิ้นต้องบรรจุในภาชนะที่ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร หากต้องการพกพาของเหลวขึ้นเครื่องบิน ควรทำการเตรียมตัวดังนี้:
- แบ่งของเหลวใส่ภาชนะบรรจุ สามารถหาซื้อชุดพกพาของเหลวได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยมักเป็นเซ็ตขวดใส่ของเหลวแบบใส ที่มีขนาดไม่เกิน 100 มิลลิลิตร
- ใส่ขวดของเหลวในถุงซิปล็อกใส นำของเหลวทั้งหมดที่พกติดตัวขึ้นเครื่อง ใส่ในถุงพลาสติกใส และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ ที่จุดตรวจความปลอดภัย
- โหลดของเหลวที่เกินปริมาณที่กำหนด สำหรับของเหลวที่มีปริมาณมากกว่า 100 มิลลิลิตร ควรทำการโหลดเข้าใต้เครื่องบิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างขึ้นเครื่อง
- ของเหลวที่ซื้อจากร้าน Duty Free ที่สนามบิน ห้ามทำการแกะออกจากบรรจุภัณฑ์หรือมีร่องรอยฉีกขาด ใส่ในถุงพลาสติกปิดผนึก และต้องมีใบเสร็จเป็นหลักฐานยืนยันว่าเพิ่งซื้อสินค้ามาจาก Duty Free ที่ท่าอากาศยาน มิฉะนั้นของที่เพิ่งซื้ออาจกลายเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่องได้
ของเหลวที่อนุโลมให้นำขึ้นเครื่องได้
ทั้งนี้มีของเหลวบางชนิดที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถพกพาเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบินได้ โดยควรพกพาในปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินเท่านั้น และต้องทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจความปลอดภัยก่อนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิดกฏสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่อง
ของเหลวประเภทยา
สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยสามารถนำยาที่เป็นของเหลว เช่น ยาน้ำ ยาแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือแบบสเปรย์พ่น ขึ้นเครื่องได้ โดยต้องมีฉลากและเอกสารกำกับยาที่เป็นชื่อของผู้โดยสาร สามารถนำขึ้นไปในปริมาณที่เพียงพอสำหรับไฟล์ทบินเท่านั้น
อาหารที่ต้องพกพา
ผู้ที่มีปัญหาทางด้านโภชนาการที่ต้องทานอาหารแบบพิเศษตามคำแนะนำของแพทย์ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตนำอาหารเหลวขึ้นมาบนเครื่องได้ อาหารแบบพิเศษได้รับข้อยกเว้นจากการเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง เพราะถือเป็นสิ่งของที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยแบบจำเพาะบุคคล และเป็นอาหารที่ผู้โดยสารไม่สามารถหาได้ในขณะที่อยู่บนเครื่องบิน
อาหารหรือนมสำหรับเด็กทารก
อาหารหรือนมสำหรับทารกไม่ถือเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ระหว่างการเดินทาง หลังจากได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เดินทางพร้อมเด็กอ่อน สามารถพกอาหารสำหรับทารก เช่น นมแม่ นมกล่อง หรืออาหารบดในปริมาณที่พอเหมาะขึ้นเครื่องได้ โดยไม่ขัดต่อกฏของสายการบิน
2. แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank)
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้มีการกำหนดเกณฑ์ของแบตเตอรี่ลิเธียมที่สามารถพกพาขึ้นเครื่องได้ โดยมีเกณฑ์ดังนี้:
- แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีความจุไฟ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 Wh (20,000 mAh) – ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่อง แต่สามารถพกพาติดตัวขึ้นเครื่องบินได้
- แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีความจุไฟ มากกว่าหรือเท่ากับ 100 – 160 Wh (20,000 – 32,000 mAh) – ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่อง แต่สามารถพกพาติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ คนละไม่เกิน 2 ชิ้น
- แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีความจุไฟ มากกว่า 160 Wh (32,000 mAh) ขึ้นไป – ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่องและห้ามพกพาติดตัวขึ้นเครื่องบิน
ดังนั้นก่อนออกเดินทาง อย่าลืมเช็กค่าความจุไฟของแบตเตอรี่สำรอง เพราะอาจกลายเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่องโดยไม่รู้ตัว และทำให้ต้องทิ้งไว้ที่จุดตรวจความปลอดภัยที่สนามบินอย่างน่าเสียดาย
3. ขาตั้งกล้อง (Tripod)
สำหรับไอเท็มชนิดนี้ อาจมีการถกเถียงกันอยู่พอสมควร เพราะบางสายการบินก็อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง แต่บางสายการบินก็เป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน สาเหตุหลักเป็นเพราะขนาดของขาตั้งกล้องที่บ่อยครั้งมีความยาวเกินกระเป๋า Carry-on หรืออาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาวุธได้ ดังนั้นหากคิดที่จะพกพาขึ้นเครื่องแล้ว ควรเช็กว่ามีความยาวไม่เกินเกณฑ์ที่สายการบินกำหนดหรืออาจเลือกโหลดใต้เครื่องเลยก็เป็นทางออกที่ดีเช่นเดียวกัน
4. อาหารที่มีกลิ่นแรง
ไม่แปลกที่อาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น ทุเรียน กะปิ ปลาร้า หรืออาหารทะเลตากแห้ง จะกลายเป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่อง เพราะอาจส่งกลิ่นรบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะในเที่ยวบินระยะไกล คงไม่มีใครอยากต้องมาทนกับกลิ่นเหม็นตลอดทั้งไฟล์ท ทางที่ดีที่สุดควรทำการแพ็คให้มิดชิดและโหลดลงใต้ท้องเครื่องเลยจะดีที่สุด
5. อาวุธ ของมีคม
ของมีคมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น กรรไกร มีดพก คัตเตอร์ หรือแม้กระทั่งกรรไกรตัดเล็บ ล้วนเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง เพราะอาจถูกใช้เป็นอาวุธโดยผู้ไม่ประสงค์ดีได้ หากต้องการพกของมีคม ให้ใส่ไว้ในกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง เพื่อไม่เป็นการฝ่าฝืนกฏความปลอดภัยของสนามบิน
6. สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
สำหรับเมืองไทย เรื่องของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น อาจยังไม่ได้มีการตรวจขันอย่างเข้มงวดเท่าไหร่นัก แต่หากเดินทางไปในประเทศที่มีมาตรการตรวจสอบอย่างจริงจังแล้ว อาจโดนยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่พกติดตัวไปด้วย ทางออกที่ดีที่สุดคือการเลือกใช้สินค้าของแท้ เพราะนอกจากเป็นการสนับสนุนแบรนด์เจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ยังไม่เสี่ยงละเมิดกฏหมายลิขสิทธิ์อีกด้วย
7. ของประดับมูลค่าแพง
ของประดับและของมีค่าเป็นไอเท็มที่ถูกบางสายการบินกำหนดให้เป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่อง เพราะกลัวในเรื่องของการโจรกรรมหรือการสูญหายระหว่างเที่ยวบิน ดังนั้นหากจะทำการพกติดตัว ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเหตุไม่คาดฝันนั้นอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
8. วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด
ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ไฟแช็ก ไม้ขีดไฟ หรือ ประทัด สีสเปรย์ และดอกไม้ไฟ ล้วนเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง เพราะอาจปะทุและทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเที่ยวบินได้ จึงเป็นสิ่งของที่ไม่ควรพกพาติดตัวในขณะเดินทางเป็นอย่างยิ่ง
9. สารฟอกขาว (Bleach)
สารฟอกขาวทั้งชนิดน้ำและชนิดผงเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ยังรวมไปถึง สารที่มีฤทธิกัดกร่อนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกรด สารหนู หรือ สารกำจัดแมลง สารเหล่านี้เป็นสารอันตราย ซึ่งหากเกิดรั่วไหลในระหว่างเที่ยวบิน อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นไปบนเครื่องบิน
10. เนื้อสัตว์ของสดหรือแช่เเข็ง
บางประเทศอาจมีข้อกำหนดเรื่องการนำเข้าเนื้อสัตว์หรือของสดเข้าประเทศ เพราะกลัวว่าอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรือเป็นการนำโรคและพาหะเข้าสู่ประเทศ ส่วนของแช่แข็งนั้น หากแพ็คหรือจัดเก็บไม่ดีก็อาจจะละลาย และส่งกลิ่นรบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ ในระหว่างการเดินทางได้
11. สารอันตรายต่างๆ หรือสารเสพติด
แน่นอนว่าสารเสพติดเป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่อง ที่ไม่สามารถพกพาติดตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นนอกเครื่องบินหรือบนเครื่องบินก็ตาม ทั้งนี้ควรระมัดระวังเรื่องข้อกฏหมายของแต่ละประเทศ เช่น การซื้อสินค้าที่ผสมสารเสพติด เช่น กัญชา เพราะอาจถูกกฏหมายในประเทศต้นทาง แต่อาจผิดกฏหมายร้ายแรงในประเทศปลายทาง จึงควรศึกษาข้อกฏหมายของแต่ละประเทศให้ดีก่อนออกเดินทางเสมอ
12. วัตถุที่แตกง่าย
ระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้น อาจเจอสภาพอากาศแปรปรวน เครื่องตกหลุมอากาศ ซึ่งแรงกระแทก อาจทำให้ข้าวของบนเครื่องเสียหายได้ ดังนั้นวัตถุที่แตกได้ง่าย เช่น แก้ว หรือกระจก จึงเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน
13. สัตว์มีพิษ สัตว์ดุร้าย
สายการบินบางแห่ง บางประเทศอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่น สุนัข หรือแมว ขึ้นมาบนเครื่องบินได้ แต่สำหรับสัตว์มีพิษและสัตว์ดุร้ายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบินโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคนอื่นๆ บนเที่ยวบินได้
14. ไม้ตียุงไฟฟ้า
หลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมไม้ตียุงไฟฟ้า จึงเป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่อง สาเหตุเพราะอุปกรณ์ทุกชนิดที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธได้นั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาขึ้นเครื่องได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นหากไม่อยากโดนยึดไม้ตียุงละก็ ไม่ควรนำไม้ตียุงไฟฟ้ามาด้วยจะดีที่สุด
15. อุปกรณ์กีฬา
เหตุผลของการห้ามนำอุปกรณ์กีฬาบางชนิดขึ้นเครื่องคือ อุปกรณ์เหล่านี้สามารถดัดแปลงมาเป็นอาวุธได้นั่นเอง เป็นเรื่องที่อาจขัดใจนักกีฬาหลายๆ คน แต่เพื่อความปลอดภัยแล้วก็ไม่ควรฝ่าฝืนกฏ และทำการโหลดอุปกรณ์กีฬาลงใต้เครื่องบิน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
16. โทรศัพท์หรือ Notebook บางรุ่น
โดยปกติแล้ว โทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊คไม่ได้เป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง สามารถพกพาขึ้นเครื่องบินได้โดยไม่มีปัญหา แต่อาจเกิดเหตุการณ์ที่มือถือหรือโน้ตบุ๊คบางรุ่น ที่ทางแบรนด์ยอมรับว่ามีปัญหาตั้งแต่กระบวนการผลิต ทำให้เสี่ยงต่อการระเบิด หรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการใช้งาน จนสายการบินต้องทำการแบน อาจเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นอีกสิ่งที่ควรระวังก่อนการเดินทาง เพราะอาจถูกปฎิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบินได้
17. แม่เหล็ก
สำหรับแม่เหล็กอันเล็กๆ เช่น แม่เหล็กติดตู้เย็น อาจไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็ก ถือเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เพราะสามารถส่งสัญญานรบกวนเข็มทิศ จนอาจส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์อื่นๆ บนเครื่องบินได้
18. อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย
กุญแจมือ กระบองท่อน หรือ อุปกรณ์วิทยุสื่อสาร (อาจไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในบางประเทศ) แม้ว่าจะไม่ใช่ของมีคมก็ตาม แต่ก็ถือเป็นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
19. อุปกรณ์ป้องกันตัว
ไม่ว่าจะเป็น สนับมือ เครื่องช็อตไฟฟ้าแบบพกพา หรือสเปรย์พริกไทย ล้วนถูกจัดให้เป็นของอันตรายและเป็นสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่อง เช่นเดียวกับอาวุธปืนและของมีคม
20. กระเป๋าสัมภาระที่มีแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม
ในปัจจุบันมีกระเป๋าแบบสมาร์ตแบ็ก ที่ถูกออกแบบมาให้มีฟังก์ชันต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น GPS ติดตาม หรือมีแบตเตอรี่สำรองที่สามารถชาร์ตมือถือได้ระหว่างเดินทาง ข่าวร้ายก็คือกระเป๋าสัมภาระดังกล่าวนั้น ถูกองค์กรด้านการบินนานาชาติกำหนดให้เป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เพราะมีแบตเตอรี่ลิเธียมที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้นั่นเอง โดยมีการอนุโลมให้สามารถนำขึ้นเครื่องได้ หากสามารถถอดแบตเตอรี่ออก และไม่ใช้งานแบตเตอรี่สำรองในขณะเดินทาง หากไม่สามารถทำได้ ทางสายการบินอาจทำการปฎิเสธให้ผู้โดยสารเดินทางไปพร้อมกับกระเป๋า
โทษและมาตรการเมื่อผู้โดยสารทำผิดกฏ
แน่นอนว่าการไม่ปฏิบัติตามกฏของสายการบิน เช่น การลักลอบนำของต้องห้ามขึ้นเครื่อง ย่อมตามมาด้วยบทลงโทษ ซึ่งมาตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสนามบินนั้น มีโทษค่อนข้างรุนแรง โดยมีบทลงโทษ ดังนี้:
นำสิ่งต้องห้ามมาถึงหน้าด่านตรวจ
หากเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเจอวัตถุหรือสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เช่น ของเหลว เจล หรือของมีคม เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารผ่านการตรวจไปได้ จนกว่าของที่เป็นสิ่งต้องห้ามจะถูกทิ้งหรือทำลาย และหากผู้โดยสารทำการขัดขวาง หรือหลีกเลี่ยงการตรวจค้นสิ่งของห้ามขึ้นเครื่อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อสิ่งต้องห้ามหลุดตรวจและถูกบนในเกตหรือเครื่องบิน
ผู้อยู่ในอากาศยานในระหว่างรอการบิน หากถูกตรวจพบเจอสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องไว้ในครอบครอง ผู้โดยสารต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
เมื่อสิ่งต้องห้ามหลุดตรวจและไปถึงด่านตรวจขาออก
โทษของการครอบครองสิ่งของต้องห้าม อาจมีความหนักเบาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งที่ครอบครอง โดยเจ้าหน้าที่อากาศยานมีหน้าที่ รายงานและส่งมอบตัวผู้โดยสารที่กระทำผิดหลังจากที่เครื่องได้ลงจอด ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการลงโทษตามมาตรากฏหมายของประเทศปลายทาง
การเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นเป็นการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว แต่มีกฏระเบียบมากมายที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน เพราะความไม่รู้อาจทำให้ต้องเสียเวลา เสียทรัพย์สิน และเสียความรู้สึกในขณะเดินทาง หรือแย่ที่สุดอาจโดนปรับและต้องโทษโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
AIRPORTELs หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับสิ่งของห้ามขึ้นเครื่องให้กับทุกคน เดินทางครั้งต่อไปจะได้เตรียมตัวกันให้พร้อม จะได้เช็กอินกันได้ลื่นปรื้ดไม่มีสะดุด เดินทางได้สมูธตลอดทั้งทริป