มาทำความรู้จักกับ Incoterms กันเถอะ

Incoterms

หลายคนโดยเฉพาะผู้ทำการซื้อขายของระหว่างประเทศอาจเคยได้ยินได้เห็นคำว่า Incoterms มาบ้าง Incoterms คือ อะไร โดยเฉพาะคำย่อต่าง ๆ มีความหมายอย่างไร เบื้องต้นอยากให้เข้าใจก่อนว่า ด้วยการทำการค้าระหว่างประเทศนั้น แต่ละประเทศย่อมต้องพิจารณาข้อกฎหมายของตนเป็นสำคัญในการทำการซื้อขาย โดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างประเทศต่างกัน อาจด้วยเพราะระบบกฎหมายแตกต่างกัน

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว หอการค้านานาชาติ จึงได้จัดทำ Incoterms ขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์และประเพณีการค้าระหว่างประเทศไว้ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ทั้งกำหนดเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งถือเป็นหัวใจเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อทำการซื้อขาย ปัญหาว่าความรับผิดชอบในตัวสินค้านั้นสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในการซื้อขายระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องเสมือนมีกฎหมายกลางคอยควบคุมเรื่องนี้

International Chamber of Commerce,Incoterms

วิวัฒนาการ Incoterms เริ่มครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1936 และได้มีการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Incoterms 2010 ซึ่งมีทั้งหมด 11 เทอม ลดลงจาก Incoterms 2000 ที่เดิมมี 13 เทอม เพื่อความเข้าใจ Incoterms คือ อะไร ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

กลุ่มหนึ่ง กรณีการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่มีวิธีการขนส่งโดยวิธีหนึ่งวิธีใด ที่ไม่มีการขนส่งสินค้าทางทะเล หรือมีการขนส่งทางทะเลเพียงบางช่วง กล่าวคือ ไม่ได้ขนสินค้าทางทะเลเป็นหลัก เช่น

            EXW (Ex Work) คือ การซื้อขายที่กำหนดหน้าที่ผู้ขายน้อยที่สุด โดยกำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการรับสินค้า โดยความเสี่ยงภัยหรือความรับผิดชอบในตัวสินค้า ณ สถานที่ผู้ขาย กล่าวคือ ผู้ซื้อมีหน้าที่มารับสินค้าเองจากผู้ขายที่หน้าโรงงานของผู้ขาย ผู้ขายย่อมหมดความรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้า นับตั้งแต่พ้นโรงงานผลิต

            FCA (Free Carrier) คือ ความรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าของผู้ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง หรือบุคคลที่ผู้ซื้อกำหนด ณ สถานที่ใด ๆ ที่ผู้ขายกำหนด ทั้งนี้ผู้ขายมีหน้าที่ส่งผ่านศุลกากรขาออกด้วย

            CPT (Carriage Paid To) คือ การส่งสินค้าที่ผู้ขายมีหน้าที่ส่งสินค้าให้ผู้ขนส่ง ซึ่งผู้ขายเป็นกำหนด (ผู้ขายเป็นผู้ว่าจ้าง) ความเสี่ยงภัยของผู้ขายย่อมโอนเมื่อส่งมอบสินค้านั้นให้แก่ผู้ขนส่ง

FAS,Incoterms

            กลุ่มสอง ใช้เฉพาะสัญญาซื้อขายที่มีการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก โดยสถานที่ส่งของและรับของคือ ท่าเรือทั้งของประเทศผู้ซื้อ และประเทศผู้ขาย เช่น

            FAS (Free Alongside Ship) คือ ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ในสินค้า โอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายได้นำสินค้ามาวางเทียบข้างเรือผู้ขนส่งที่ผู้ซื้อกำหนด

            FOB (Free On Board) คือ ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ในสินค้า โอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายได้นำสินค้าบรรทุกลงเรือ (on board) ผู้ขนส่งที่ผู้ซื้อกำหนด

จากที่กล่าวข้างต้นน่าจะพอเห็นภาพได้บ้างว่า Incoterms คือ อะไร ซึ่งโดยหลักเป็นเรื่องการกำหนดการโอนความเสี่ยงต่าง ๆ ในสินค้านั้นว่า ความเสี่ยงภัยของผู้ขายหรือความรับผิดชอบนั้นจะโอนยังผู้ซื้อเมื่อใด รวมถึงกำหนดหน้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายในเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งในแต่ละเทอมว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ภาพขอยกตัวอย่าง ดังนี้

นาย ก ประเทศไทย สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ จากบริษัท A ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคา FOB

Ship at the port

หมายความว่า ความรับผิดชอบในความเสี่ยงภัยสินค้าสูญหาย เสียหาย ของบริษัท A พ้นเมื่อได้ทำการบรรทุกสินค้าลงเรือผู้ขนส่งที่ นาย ก เป็นผู้จัดหาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้านั้นจะโอนแล้วหรือไม่ รวมด้วยระบุราคา FOB ย่อมหมายความว่า นาย ก มีหน้าที่เป็นผู้จัดหาผู้ขนส่ง เป็นต้น

ทำความรู้จัก Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่สำคัญควรต้องรู้

logistics, transportation,Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศเจริญขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการซื้อขายมีลักษณะเป็น E-commerce กล่าวคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย อย่างไรก็ตามด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศนั้น แต่ละประเทศย่อมมีวัฒนธรรมและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิหน้าที่และความรับผิดของผู้ขายสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว หอการค้านานาชาติ (ICC) จึงได้จัดทำ Incoterms ขึ้น ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 11 เทอม ตาม Incoterms 2010 ซึ่งแก้ไขล่าสุด อย่างไรก็ตามในการซื้อขายระหว่างประเทศในความเป็นจริงแล้ว มีเทอมใน Incoterm เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่ควรศึกษาอยู่จริง ๆ เพียง 4 – 5 เทอมเท่านั้น อันเป็นเทอมที่ใช้บ่อย ดังนี้

COST INSURANCE FREIGHT CONCEPT,Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ

FOB (Free on Board) คือ การซื้อขายที่กำหนดหน้าที่ผู้ขายสินค้าพ้นความผิดในการที่สินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหาย เมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) ที่ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหา ดังนั้น หากความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าเวลาใด ก่อนมีการบรรทุกสินค้าลงเรือ ไม่ว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ตามกฎหมายประเทศนั้น ๆ ผู้ขายยังคงมีหน้าที่รับผิดเสมอ กลับกันหากสินค้าบรรทุกลงเรือแล้ว เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผู้ซื้อก็ไม่อาจโทษผู้ขายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในเรื่องพิธีการศุลกากร ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะพิธีการศุลกากรเพื่อการส่งออกเท่านั้น ส่วนพิธีการเพื่อการนำเข้าเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ

            Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประเภทเทอม FOB เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่สามารถจัดการติดต่อว่าจ้างขนสินค้าได้เอง รวมถึงสามารถทำพิธีการศุลกากรขาเข้าได้

Delivery terms

            EXW (Ex Work) คือ การซื้อขายที่กำหนดข้อตกลงให้ผู้ขายปฏิบัติการชำระหนี้ ณ สถานที่ของผู้ขาย กล่าวคือ ความเสี่ยงภัยในความรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายมอบของแก่ผู้ซื้อหน้าโรงงานของผู้ขายหรือสถานที่อื่น ๆ ที่ผู้ขายกำหนด อาจกล่าวได้ EXW กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ขายน้อยสุดเมื่อเปรียบเทียบกับ Incoterm ในเทอมอื่น ๆ เพราะผู้ขายแทบไม่ต้องทำหน้าที่อะไร รวมถึงไม่ต้องดำเนินพิธีการทางศุลกากรใด ๆ ทั้งสิ้น

            Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศประเภทเทอม EXW เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่มีความสามารถในการจัดหาผู้ขนส่ง และสามารถดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศต้นและศุลกากรขาเข้าประเทศปลายทาง ดังนั้น หากผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถดำเนินการตามได้ข้างต้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะซื้อขายสินค้าในเทอมนี้ เพราะภาระมากสุด

            CFR (Cost and Freight) คือ การซื้อขายสินค้าที่กำหนดให้ผู้ขายพ้นความผิดหากสินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหายเมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) อย่างไรก็ตามผู้ขายมีหน้าที่จัดหาขนส่ง แต่ไม่มีหน้าที่ทำประกันภัยในสินค้านั้น หากผู้ขายจะทำต้องดำเนินการเอง อย่างไรก็ตามผู้ขายยังคงมีหน้าที่ดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศผู้ผลิตหรือผู้ขายต้นทางนั้น แต่ไม่รวมถึงพิธีทางศุลกากรขาเข้าประเทศผู้นำเข้าปลายทาง

            Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศประเภทเทอม CFR เหมาะสำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อสินค้า โดยผู้ซื้อมีหน้าที่เพียงไปรับสินค้า ณ ท่าเรือที่ปลายทางกำหนด พร้อมดำเนินพิธีทางศุลกากรขาเข้า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขนส่ง การดำเนินการพิธีทางศุลกากรขาออก เป็นหน้าที่ของผู้ขาย

            CIF (Cost Insurance and Freight) คือ การซื้อขายสินค้าที่กำหนดให้ ผู้ขายพ้นความผิดหากสินค้านั้นสูญหาย หรือเสียหายเมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือ (on Board) อย่างไรก็ตามผู้ขายมีหน้าที่เป็นผู้จัดหาขนส่ง รวมถึงมีหน้าที่เอาประกันเกี่ยวกับสินค้านั้น เพื่อคุ้มภัยขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในข้อ C ของหน่วยรับประกันภัยทางทะเล รวมถึงมีหน้าที่ดำเนินพิธีทางศุลกากรขาออกประเทศผู้ผลิตหรือผู้ขายต้นทางนั้น แต่ไม่รวมถึงพิธีทางศุลกากรขาเข้าประเทศผู้นำเข้าปลายทาง

            Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประเภทเทอม CIF เหมาะสำหรับอำนวยความสะดวกผู้ซื้อมากขึ้น โดยผู้ซื้อเพียงแต่ไปรับสินค้าและดำเนินพิธีทางศุลกากรขาเข้า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขนส่ง และประกันภัย เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้า อย่างไรก็ตามความเสี่ยงภัยในความเสียหายสินค้าของผู้ซื้อเริ่มตั้งแต่ประเทศผู้ส่งของต้นทางแล้ว

Container terminal,Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศ

            จากที่กล่าวมาข้างต้น Incoterms เงื่อนไขการส่งสินค้าระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายระหว่างประเทศควรศึกษา เพื่อให้การซื้อขายมีความเป็นสากลเข้าใจตรงกันในเรื่องการโอนความเสี่ยงภัยเมื่อหากเกิดปัญหาขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดหน้าที่อื่น ๆ เช่น พิธีทางศุลกากร หน้าที่การจัดหาผู้ขนส่ง เป็นต้น ซึ่งย่อมช่วยทำให้การซื้อขายสะดวกมากขึ้น ตลอดจนทำให้การระงับข้อพิพาทซึ่งอาจเกิดขึ้น สามารถยุติได้อย่างรวดเร็วเพราะมีหลักเกณฑ์ความเข้าใจตรงกัน