โดยปกติเคยได้ยินว่าอาการ ปวดหลัง พบมากในวัยทำงานและผู้สูงอายุ แต่ทุกวันนี้เพิ่งวัยรุ่น ทำไมเริ่มปวดหลังแล้ว ถือเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังนั้นมีอะไรบ้าง มีอาการปวดบ่อย ๆ หรือเปล่า ควรรักษาเยียวยาหรือป้องกันอย่างไร เราหาคำตอบทั้งหมดมาให้ติดตามอ่านกัน
อาการปวดหลังในวัยรุ่น
สมัยนี้เด็กและวัยรุ่นปวดหลังบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก อาจเกิดจากแบกเป้หนัก ๆ นั่งเล่นเกมบนมือถือ หรือนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ตลอดจนการเล่นกีฬาและกิจกรรมที่หนักเกินไปทำให้กล้ามเนื้อตึงหรือมีรอยฟกช้ำบนหลัง อาการปวดที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้มักจะหายได้เองภายในเวลาไม่นานโดยไม่ต้องรักษา หากมีอาการปวดบ่อย ๆ อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังหลายอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง หากปล่อยทิ้งไว้อาจอันตราย ควรรีบพบแพทย์จะดีกว่า
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
ปวดหลังเป็นอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไปจนกลายเป็นอาการปวดบริเวณคอ หลัง ไหล่ คนไข้อายุน้อยที่เข้าไปรักษาอาการปวดหลังมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็กช่วงตั้งแต่มัธยมปลายไปจนถึงวัยทำงานตอนต้นที่ใช้เวลาหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์มากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังขยับเคลื่อนไหวทำให้โครงสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง การเล่นกีฬาผาดโผนหรือกล้ามเนื้อใช้งานอย่างหนักทำให้วัยรุ่นเผชิญปัญหาปวดหลังเร็วกว่าคนสมัยก่อนที่มักจะปวดหลังเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย
สาเหตุปวดหลังมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและโรคต่าง ๆ ดังนี้
- น้ำหนักตัวมากเกินไป โรคอ้วนก่อให้เกิดอาการปวดหลัง ร่างกายคนอ้วนต้องรับน้ำหนักมากกว่าคนปกติ มีผลทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงเป็นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท มีอาการปวดคอ ปวดหลัง เรื้อรัง
- นั่งผิดวิธีหรืออยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยทั่วไปคนวัยทำงานนั่งท่าเดิมในออฟฟิศเป็นเวลานานๆ หรือยืนนานๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถก็เป็นสาเหตุของอาการปวดหลังหรือกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเหมือนกัน เด็กวัยรุ่นสมัยนี้เล่นเกมบนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ทั้งวันเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง หากไม่ออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอและเสื่อมเร็วกว่าปกติ ต้องพบแพทย์รักษาอาการปวดคอ หลัง ไหล่
- การเคลื่อนไหวร่างกายผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ การแบกหามออกแรงมากเป็นประจำ หรือยกของหนักผิดวิธีทำให้กระดูกสันหลังบิด หรือเล่นกีฬาที่ผิดท่าหรือรุนแรงเกินไปมีแนวโน้มที่จะบาดเจ็บ เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือกล้ามเนื้อตึงเครียดจนถึงขั้นเจ็บปวด ยกของหนักหรือออกแรงมาก ๆ เป็นประจำจะทำให้กระดูกสันหลังบิด
- การปวดหลังจากโรคร้ายแรง เกิดจากภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ อาการของการติดเชื้อ โรคข้ออักเสบ กระดูกหัก โรคไต โรคลำไส้อักเสบ โรคเกี่ยวกับรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ตับอักเสบ หลอดเลือดโป่งพอง มะเร็ง และความผิดปกติอื่นๆ
- การปวดหลังจากสาเหตุอื่น ๆ ที่นอนแข็งเกินไปทำให้น้ำหนักตัวกดทับเฉพาะจุดส่งผลให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อตึงเครียดทำให้เกิดอาการปวดหลังต่อเนื่อง ที่นอนนิ่มเกินไป นอนแล้วยุบตัวทำให้ก้นและสะโพกจมยุบลงไป หลังส่วนล่างแอ่นขึ้นทำให้เกิดแรงกดมากเกินไปจนเกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน ควรเลือกฟูกนอนที่เหมาะกับรูปร่างและน้ำหนักตัว นอกจากนี้การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทำให้เนื้อกระดูกบางลงเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมักจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง
อาการปวดหลังระดับไหนควรไปพบแพทย์
มื่อเกิดอาการปวดหลัง เมื่อยล้า กล้ามเนื้อตึง คนส่วนใหญ่มักเพิกเฉย คิดว่าอาการไม่ร้ายแรง อาจเกิดจากการนั่งนาน เคลื่อนไหวผิดท่า ยกของหนัก หรือออกกำลังกายมาก บ้างก็กินยาแก้ปวด บ้างก็ไปนวด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอาการปวดหลังอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกถึงอันตรายและโรคร้ายบางอย่างก็เป็นได้
- ปวดหลังแบบเมื่อยล้า สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึง เพราะการใช้งานหนักเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
- ปวดหลังจากการยกของหนัก ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนจะมีอาการชาและปวดร้าวลงไปถึงขา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงจนทำให้ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ เป็นอาการปวดหลังที่มีอันตรายควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
- ปวดแนวกระดูกกลางหลัง มักพบปัญหาที่หมอนรองกระดูกสันหลัง หรือข้อต่อกระดูกสันหลัง หากรู้สึกปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อตจากคอไปปลายนิ้วมือ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดเบียด เส้นประสาทอักเสบและเกิดอาการปวดหลัง
- ปวดรุนแรง ขาชา ขาอ่อนแรง ลุกนั่งไม่ไหว เป็นอาการที่เกิดจากหมองรองกระดูกแตก พบได้ในคนที่อายุน้อย ต้องรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดทันที
- ปวดหลังเมื่ออยู่เฉย ๆ ไม่ได้เคลื่อนไหว ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องตื่นขึ้นมากินยาแก้ปวด ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง หากมีอาการปวดหลังพร้อมกับมีไข้หรือน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีประวัติคนในครอบครัวเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง หรือประสบอุบัติเหตุก่อนจะปวดหลัง ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
วิธีรักษาปวดหลัง
อาการปวดหลังในวัยรุ่นพบได้บ่อยขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น การรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและสาเหตุของโรค
1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ในกรณีที่ปวดหลังไม่มาก ความเจ็บปวดเกิดจากกล้ามเนื้อตึงหรือกล้ามเนื้ออักเสบ อาจใช้น้ำอุ่นประคบ กินยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ นอนพักผ่อน นวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อปรับเปลี่ยนการไหลเวียนเลือดช่วยคลายอาการปวดได้ แต่ไม่ควรนวดรุนแรงทำให้เจ็บปวดอาจเกิดปัญหารุนแรงกว่าเดิม หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังไม่หายเองใน 2-4 สัปดาห์ เกิดจากหมอนรองกระดูกอักเสบเล็กน้อย ควรปรับพฤติกรรมและหมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและการทำกายภาพบำบัด หรือการฉีดยาเข้าเส้นประสาทสันหลัง
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ ปวดหลังรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น ปวดร้าวชาลงเอวหรือขา ขาอ่อนแรง ลุกนั่งลำบาก เดินไม่ได้ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงจนรักษาได้ยากควรรีบพบแพทย์เพื่อจะให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดตามลักษณะอาการของโรค
อาการปวดหลังและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรงป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น ยกของหนัก นั่งหรือยืนท่าเดิมนาน ๆ ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พร้อมกับควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมและพักผ่อนเพียงพอ หากดูแลตัวเองดีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นไม่ควรชะล่าใจ ให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่ชำนาญโดยเฉพาะเพื่อหาวิธีรักษาตรงจุดทำให้หายจากอาการปวดหลังได้
ที่มาข้อมูล :
- https://tu.ac.th/thammasat-210164-allied-expert-talk-back-pain-teenagers#:~:text=ปัจจัยหลัก%20ๆ%20ที่พบ,กว่าคนที่อายุเยอะ
- https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/กระดูกและข้อ/อายุยังน้อย-ก็–ปวดหลัง–ได้ไม่แพ้คนสูงอายุ
- https://www.phyathai.com/article_detail/3379/th/ปวดหลัง…สัญญาณบอก(หลาย)โรคที่ไม่ควรมองข้าม
- https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/842/Back-Pain
- https://www.bmj.com/content/350/bmj.h1275.full
- https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=3395&language=ar