สนามบินในประเทศ และต่างประเทศถือเป็นสถานที่สาธารณะ และมีการรวมตัวของกลุ่มคนมากมายหลายประเทศที่มาใช้บริการในสายการบินต่างๆ อย่างประเทศไทยเองก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากมาย ความปลอดภัยจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณสนามบินที่เสี่ยงต่อการเกิดความแตกตื่นได้ง่ายจากการกระทำ หรือคำพูดในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงมีการประกาศคำต้องห้ามในสนามบินออกมาบังคับใช้ บทความนี้ AIRPORTELs จะพาทุกคนไปดูคำต้องห้ามในสนามบิน ตัวอย่างสถานการณ์ และบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน
คำต้องห้ามในสนามบิน คืออะไร
คำต้องห้ามในสนามบิน คือ คำที่ห้ามพูด กล่าว หรือตะโกนในสนามบิน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่อาจสร้างความไม่ปลอดภัย และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้โดยสาร หรือเจ้าหน้าที่ในสนามบินได้ ซึ่งมาตรการนี้นับว่าเป็นมาตรการของท่าอากาศยานที่มีการใช้ร่วมกันอย่างเป็นสากล แม้เป็นภาษาต่างประเทศก็ไม่ควรพูด กล่าวถึง หรือตะโกนออกมาไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เพราะอาจส่งผลมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และประเทศชาติได้
ประเภทของกลุ่มคำต้องห้ามในสนามบิน
ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลที่เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของคำพูด ลักษณะท่าทาง หรือการสื่อสารที่ว่าด้วยเรื่องของคำต้องห้ามในสนามบิน หากมีการพูด หรือแสดงออกต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
คำพูดที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นเหตุให้ผู้อื่นตื่นตกใจ
คำต้องห้ามในสนามบินที่สร้างความเข้าใจผิด หรือทำให้ผู้อื่นตื่นตกใจ ถือว่าเป็นคำต้องห้าม เพราะสนามบินเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ การใช้คำพูดเหล่านี้อาจสร้างความเข้าใจผิด หรือสร้างความตื่นตกใจ จนเกิดความโกลาหล และอาจเกิดเหตุจราจลจากการเข้าใจผิดภายในสนามบินได้ โดยกลุ่มคำต้องห้ามในสนามบินมีดังนี้
ระเบิด (Bomb, Explosive)
คำว่า ระเบิด หรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับระเบิด ซึ่งเป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่สามารถก่อเหตุอันตรายภายในสนามบินได้ ดังนั้น หากมีใครพูดขึ้นมา อาจสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนภายในสนามบินได้ คำว่า ระเบิด จึงถือเป็นคำห้ามพูดสนามบินที่ไม่ควรพูดออกมาเด็ดขาด
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การพูดว่ามีระเบิดอยู่ในกระเป๋า, สนามบินจะระเบิด, ติดตั้งระเบิดเรียบร้อยแล้ว, ระเบิดสนามบิน, ระเบิดเครื่องบิน, แม้แต่การเรียกชื่อ บอมบ์ ก็ไม่ควรเป็นอันขาด
อาวุธ วัตถุอันตราย และสารเสพติด
กลุ่มคำที่เกี่ยวกับอาวุธ วัตถุอันตราย และสารเสพติด เป็นกลุ่มคำที่อาจสร้างความตื่นตระหนก และความไม่ปลอดภัยให้กับผู้คนในสนามบินได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือเหตุจลาจลในสนามบินได้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคำที่ต้องระวังเป็นพิเศษ และถูกจัดว่าเป็นคำห้ามพูดในสนามบิน
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การพูดว่ามีอาวุธอยู่ในมือ, มีปืนอยู่ในกระเป๋า, เมายาหรือเปล่าเนี่ย, เสพยามา เป็นต้น
การก่อการร้าย การปล้น หรือจี้เครื่องบิน
สำหรับเหตุการณ์ที่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อการร้าย การปล้น หรือจี้เครื่องบิน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดเป็นอันขาด เพราะเป็นกลุ่มคำที่สามารถสร้างภาวะตื่นตกใจให้คนโดยรอบ จนทำให้เกิดความวุ่นวานในสนามบินได้
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การพูดว่าเรามีตัวประกัน ไม่ทำตาม ตาย, นี่คือการปล้น, จี้เครื่องบิน, Hijack, ไม่ทำตามจะฆ่าให้หมด เป็นต้น
โรคระบาดร้ายแรง
กลุ่มคำพูดที่เกี่ยวกับโรคระบาดร้ายแรง ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดในสนามบินเช่นกัน เพราะโรคระบาดมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส หรือโรคบางชนิดที่สามารถแพร่เชื้อให้กับคนในสนามบินได้ ไม่ว่าจะแพร่เชื้อผ่านการสัมผัส การพูดคุย การหายใจ หรือทางอากาศ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่อันตรายต่อชีวิต และสร้างความหวาดกลัว นับว่าเป็นคำต้องห้ามในสนามบิน
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ระวังเจอเชื้ออีโบล่า, คนนี้มีเชื้ออีโบล่า, โรคระบาดร้ายแรงชนิดใหม่ เป็นต้น
คำพูด เขียนข้อความ หรือการกระทำอื่น ๆ ที่เป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นภัย
นอกจากคำพูดต้องห้ามในสนามบินแล้ว การแสดงออกด้วยวาจา การเขียนข้อความ หรือการกระทำอื่นๆ ที่เป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นภัย ก็นับว่าเป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่ควรทำเด็ดขาดในสนามบิน เพราะอาจสร้างความตื่นตระหนกตกใจ ความไม่ปลอดภัย รวมไปถึงความไม่มั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และประเทศชาติ โดยพฤติกรรมที่ต้องห้ามในสนามบิน มีดังนี้
การพูด ตะโกน หรือเขียน
การพูด การตะโกน หรือการเขียน เป็นสิ่งที่สามารถสร้างอันตรายสำหรับผู้ที่อยู่ในสนามบิน ในกรณีที่มีการหลุดพูด หรือตะโกนคำต้องห้ามในสนามบินออกมาจนผู้คนในสนามบินได้ยินกันโดยทั่วไป หรือมีข้อความปริศนาที่มีวัตถุประสงค์ร้ายก็อาจสร้างความหวาดวิตก และกระทบต่อสภาพจิตใจได้
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การตะโกนว่าเครื่องบินลำนี้กำลังตะตก, การทิ้งข้อความในสนามบินว่ามีระเบิด, การป่าวประกาศไปทั่วว่าไฟกำลังไหม้สนามบิน เป็นต้น
การคุกคาม ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย
นอกจากคำห้ามพูดสนามบินแล้ว พฤติกรรมที่เกิดในสนามบินไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง การตะโกนเสียงดังโวยวาย การข่มขู่ คุกคาม หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อีกทั้งยังมีบทลงโทษอย่างหนักสำหรับผู้กระทำการฝ่าฝืน
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การข่มขู่ หรือคุกคามว่าเดี๋ยวก็ฆ่าทิ้งเสียหรอก, อยากตายมากเหรอ, ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วใช่ไหม, จะกลับไม่กลับหรือต้องโดนกระทืบก่อน, การลงมือทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
การโยนกระเป๋า หรือสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ หรือผู้โดยสาร
การโยนกระเป๋า หรือสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ หรือผู้โดยสาร ถือเป็นพฤติกรรมต้องห้ามในสนามบิน เพราะการขว้างปา หรือโยนสิ่งของอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก การบาดเจ็บ หรือร้ายแรงถึงขั้นส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่นได้
- ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ไม่พอใจเจ้าหน้าที่เลยโยนกระเป๋าใส่, ผู้โดยสารที่ทำการตรวจสัมภาระทำอะไรชักช้า โยนกระเป๋าใส่, แย่งที่วางกระเป๋า จนกระเป๋าไปกระแทกผู้โดยสารคนอื่น เป็นต้น
บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน
- ผู้ฝ่าฝืนแจ้งข้อความต้องห้ามในสนามบิน และเป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยาน หรือ ระหว่างบินตื่นตกใจ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำนั้นสร้างอันตรายให้กับอากาศยาน และระหว่างการบิน จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุป
คำต้องห้ามในสนามบิน และพฤติกรรมต้องห้ามในสนามบิน มีจุดประสงค์เพื่อลดความเข้าใจผิด ลดการสร้างความตื่นตระหนกตกใจ ป้องกันการเกิดเหตุร้ายที่อาจส่งผลต่อสวัสดิภาพของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ รวมถึงป้องกันความเสียหายที่อาจส่งผลต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องระวังเกี่ยวกับการสื่อสาร การพูด และการกระทำเสมอ เมื่ออยู่ภายในบริเวณสนามบิน
หากมีความกังวลขณะอยู่ในสนามบินเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระ หรือเมื่อเกิดการจลาจลแล้วกลัวว่าสัมภาระอาจสูญหาย ทาง AIRPORTELs มีบริการรับฝาก และส่งกระกระเป๋า โดยจะจองผ่านเว็บไซต์ หรือเดินมาใช้บริการที่เคาน์เตอร์ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะมีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประกันค่าเสียหายสูงสุด 50,000 บาท